การออกแบบแสงสว่างเพื่อให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่

เนื่องด้วยแสงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตที่จะช่วยมอบแสงสว่าง ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้ง โทนของแสงยังสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไปได้อีกด้วย ทั้งนี้ แสงที่ดีต้องไม่ใช่เพียงแสงที่ให้ความสว่างเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสบายตาและสามารถมองเห็นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย ด้วยเหตุนี้ การออกแบบระบบแสงสว่าง (Lighting Design) จึงมีมาเพื่อออกแบบแสงสว่างในแต่ละพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การออกแบบระบบแสงสว่างสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีคุณภาพสำหรับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งพื้นที่กลางแจ้ง เช่น สวนสาธารณะหรือถนนในเมือง ระบบแสงสว่างที่ดีจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานหรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ทั้งยังมีผลต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการออกแบบระบบแสงสว่างจึงเป็นเรื่องสำคัญใกล้ตัวที่คุณควรรู้

การออกแบบระบบแสงสว่างภายในอาคาร

การออกแบบระบบแสงสว่างภายในอาคาร คือ การเน้นให้แสงสว่างที่เหมาะสมและปรับได้ในทุกพื้นที่ของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่อยู่อาศัย อาคารสํานักงาน อาคารพาณิชย์ หรืออาคารอุตสาหกรรม เพื่อให้มีแสงที่เพียงพอเหมาะสมสำหรับแต่ละห้อง และเพื่อให้การทำงานหรือการทำกิจกรรมในอาคารนั้นๆ สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การให้แสงสว่างสำหรับการทำงานในห้องประชุมหรือการให้แสงสว่างอันอบอุ่นในห้องพัก

การออกแบบระบบแสงสว่างภายนอกอาคาร

การออกแบบระบบแสงสว่างภายนอกอาคาร คือ การให้แสงสว่างที่สอดคล้องและเป็นไปตามสภาพแวดล้อมภายนอก โดยจะเน้นไปที่การประดับประดาหรือการสร้างจุดเด่นแก่สถาปัตยกรรมของอาคาร เช่น การใช้แสงสว่างเพื่อเชิดชูลักษณะเด่นของการออกแบบอาคารในยามค่ำคืน หรือการใช้แสงสว่างเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้แก่พื้นที่สวนหน้าบ้าน

การออกแบบระบบแสงสว่างที่ดีต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลต่อแสงสว่างอย่างเป็นระบบ ซึ่งระบบส่องสว่างสามารถแบ่งออกได้ 2 ระบบ ดังนี้

ระบบการให้แสงหลัก (Primary Lighting System)

สำหรับระบบการให้แสงสว่างหลัก เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบแสงสว่างเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการออกแบบระบบสำหรับการใช้งาน โดยแสงหลักเหล่านี้จะทำหน้าที่ให้ความส่องสว่าง จึงต้องมีการออกแบบให้เพียงพอต่อมาตรฐานการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการออกแบบแสงหลักก็สามารถแบ่งเป็นระบบย่อย ๆ ได้ ดังนี้

  • แสงสว่างทั่วไป (General Lighting): การออกแบบให้แสงสามารถกระจายได้ทั่วบริเวณ เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่ต้องการใช้แสงสว่างมากเกินไป หรือต้องการเน้นการประหยัดพลังงานเป็นหลัก 
  • แสงสว่างเฉพาะที่ (Localized Lighting): การออกแบบที่ให้แสงสว่างเฉพาะพื้นที่ หรือเป็นพื้นที่ที่ต้องการใช้งานเท่านั้น ในภาพรวมจึงไม่มีแสงสว่างที่สม่ำเสมอกันเหมือนแบบแรก แต่ก็ยังคงช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานได้เช่นกัน
  • แสงสว่างเฉพาะที่และทั่วไป (Local Lighting + General Lighting): การให้แสงสว่างแบบผสมผสานระหว่างแบบทั่วไป และเฉพาะที่ ซึ่งการให้แสงสว่างแบบนี้จะเหมาะกับงานที่ต้องการได้ความส่องสว่างสูง อย่างไรก็ตามจะต้องยอมรับถึงกำลังไฟฟ้าที่ใช้ และค่าไฟที่จะตามมาเช่นกัน

ระบบการให้แสงรอง (Secondary Lighting System)

ในส่วนของระบบการให้แสงรองก็เหมือนกับการใช้เป็นออฟชั่นเสริม ตอบสนองจุดประสงค์การออกแบบแสงเพื่อความสวยงาม ซึ่งระบบแสงรองจะช่วยให้แสงที่ได้ ดึงดูดสายตาและอารมณ์
สำหรับระบบการให้แสงรองสามารถแบ่งเป็นระบบย่อยได้ ดังนี้

  • แสงสว่างแบบส่องเน้น (Accent Lighting): เป็นการออกแบบแสงให้ส่องเน้นเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง หรือใช้กับการส่องเน้นที่วัตถุ เพื่อดึงดูดสายตาให้เกิดความน่าสนใจ ส่วนมากจะใช้ไฟแบบสปอตไลท์ในการออกแบบแสงสว่างส่องเน้น
  • แสงสว่างแบบเอฟเฟค (Effect Lighting): การออกแบบแสงสว่างให้เกิดบรรยากาศที่น่าสนใจ มักจะเจอได้ในรูปแบบของการส่องไฟไปที่กำแพง หรือพื้น เพื่อสร้างรูปแบบต่าง ๆ จากแสงให้เกิดความสวยงาม
  • แสงสว่างตกแต่ง (Decorative Lighting): นับว่าเป็นการออกแบบแสงที่พบเห็นได้บ่อย ๆ โดยจะเน้นไปทางความสวยงามของหลอดหรือโคมไฟ และใช้สำหรับตกแต่งเพื่อให้เป็นที่สนใจ
  • แสงสว่างงานสถาปัตย์ (Architectural Lighting): การออกแบบแสงให้สัมพันธ์กับงานสถาปัตยกรรม เกิดลูกเล่น ความสวยงาม สร้างอารมณ์จากแสงและเงา

สิ่งที่ควรคำนึงระหว่างการออกแบบแสงสว่าง

 Lighting Design เป็นโซลูชันที่สามารถส่งผลต่อความพึงพอใจ ทัศนวิสัย และบรรยากาศของสถานที่ ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้มีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่ต้องคำนึงในการออกแบบแสงสว่าง เพื่อให้ได้แสงที่สมบูรณ์และเหมาะสมกับสถานที่มากที่สุด โดยสิ่งที่ควรจะต้องคำนึงหลัก ๆ ดังนี้

  • ความสวยงาม VS การประหยัดไฟ

    การออกแบบแสงสว่างมีจุดประสงค์หลัก ๆ คือการใช้งานที่เหมาะสม แต่เรื่องของความสวยงามและการประหยัดพลังงานก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ออกแบบให้ความสำคัญ ซึ่งเราอาจจะเห็นได้ว่าการออกแบบแสงสว่างในแต่ละพื้นที่มีความสวยงามและบรรยากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเกิดจาการใช้กำลังไฟ และจำนวนแสงสว่างที่ไม่เท่ากัน

    หากใครต้องการความสวยงาม สามารถออกแบบโดยการเน้นใช้แสงไฟไปทั่วบริเวณ แต่อาจต้องยอมแลกกับค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้น แต่หากคุณต้องการเน้นเรื่องประหยัดพลังงานเป็นหลัก จำนวนแสงสว่างที่ใช้อาจต้องลดลง และต้องยอมสละในเรื่องของความสวยงามทิ้งไป
  • การเลือกแสงของหลอดไฟให้เหมาะกับสถานที่

    เพราะแสงจากหลอดไฟมีความเหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องสีที่ให้ อุณหภูมิแสง ตลอดจนความสามารถในการให้แสงสว่าง ดังนั้น คุณจะต้องรู้ว่าการออกแบบแสงสว่างในครั้งนี้ คุณคาดหวังกับอะไร ต้องการเน้นการใช้งานแบบไหน หรือต้องการความสวยงามอย่างไร เพื่อให้คุณสามารถเลือกหลอดไฟที่จะใช้กับสถานที่ได้อย่างเหมาะสม

  • รูปแบบของหลอดและโคมไฟ

    สิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการออกแบบแสงสว่าง นั่นก็คือรูปแบบของหลอดและโคมไฟ ที่จะต้องคำนึงถึงอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีผลกับภาพรวมหลังจากการติดตั้งแสงสว่าง อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการใช้งานในระยะยาว ว่าจะทนทานมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ราคา และคุณสมบัติในการใช้งาน เพื่อให้ตอบสนองการใช้งานได้ที่ทนทาน และง่ายต่อการบำรุงรักษา

หากต้องการปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคมไฟและแสงสว่างสำหรับทั้งภายในและภายนอก สามารถติดต่อ W.L. Lighting โดยช่องทางต่างๆ
Line@ : @wllighting หรือ โทร 094-782-8882 (อานพ), 094-596-9445 (อัญชนิดา)